วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ดาวอังคาร (บทที่2 )

ดาวอังคาร
          ดาวอังคาร (Mars) เป็นดาวเคราะห์สีแดง ทำให้ผู้คนเชื่อกันว่าเป็นเทพแห่งสงครามและการสู้รบความแข็งแกร่ง และสัญลักษณ์ของเพศชาย ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีความเชื่อและข้อสันนิษฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วไปว่าดวงอังคารเป็นดาวที่มีสภาพเอื้อต่อการกำเนิด และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเช่นเดียวกับมนุษย์ เพราะดาวอังคารเป็นดาวดวงที่อยู่ถัดจากโลกออกไปในระบบสุริยะที่มีขนาดเล็กกว่าโลกไปไม่มาก และมีคาบการหมุนรอบตัวเองใกล้เคียงกับโลก
       ดาวอังคารมีบรรยากาศที่หนาแน่นไม่ถึง 1 ใน 100 ของบรรยากาศโลก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีพายุใหญ่ที่พัดปกคลุมดาวทั้งดวงเกิดขึ้นประปราย บรรยากาศของดาวอังคารประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ จึงสร้างสภาพเรือนกระจกที่ทำให้ผิวดาวร้อนขึ้นประมาณ 5 องศาเซลเซียสจากค่าที่ควรจะเป็นหากไม่มีบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม ช่วงอุณหภูมิของพื้นผิวดาวอังคารก็ยังคงกว้างมาก คือ ตั้งแต่ - 133 องศาเซลเซียส (140 เคลวิน) ที่ขั้วน้ำแข็งในฤดูหนาวไปจนถึงประมาณ 30 องศาเซลเซียส (303 เคลวิน) ที่ด้านกลางวันในฤดูร้อน โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ – 55 องศาเซลเซียส (218 เคลวิน) ภูมิอากาศบนดาวอังคารหนาวเย็นกว่าโลกเพราะดาวอังคารอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลกเกือบ 1.5 เท่า จึงได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์เพียง 40% ของพลังงานที่โลกได้รับ
          ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารสองดวงชื่อ โฟบัส (Phobos) และดีมอส (Deimos) ค้นพบโดย อะชาฟ ฮอลล์ (Asaph Hall) นักดาราศาสตร์แห่งหอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1877 ซึ่งเป็นปีที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุดครั้งหนึ่ง ดวงจันทร์ทั้งสองมีขนาดเล็กมากจนแทบไม่สามารถสังเกตรายละเอียดพื้นผิวจากโลกได้เลย รูปร่างลักษณะที่แท้จริงของดวงจันทร์ของดาวอังคารจึงเพิ่งเปิดเผยต่อสายตาชาวโลก เมื่อยานไวกิง (Viling) ของสหรัฐอเมริกาบินเฉียดดวงจันทร์ทั้งสองและถ่ายภาพส่งกลับมา
         ดาวอังคารสังเกตได้ง่ายเพราะมีสีออกแดงอย่างเห็นได้ชัด โดยจะสว่างเป็นพิเศษเมื่อโคจรเข้ามาใกล้โลก ช่วงเวลาที่สังเกตดาวอังคารได้ง่ายที่สุดคือ ช่วงออพโพซิชัน (Opposition) ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวอังคารอยู่ใกล้โลกมากที่สุด แม้ว่าระยะห่างระหว่างโลกและดาวอังคาร ณ ออกโพซิชัน แต่ละครั้งก็ไม่คงที่เพราะวงโคจรของดาวอังคารมีความรีพอสมควร แต่ช่วงออพโพซิชัน ก็ยังเป็นช่วงที่สามารถสังเกตได้ดีที่สุดในรอบวงโคจรนั้น ๆ เสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บรรณานุกรม

บรรณานุกรม สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561 แหล่งข้อมูลมาจาก : http://thesunsk.blogspot.com/